เสือโคร่ง

เสือโคร่ง จัดเป็นสัตว์ตระกูลเดียวกับแมวแต่มีลำตัวขนาดใหญ่ ปัจจุบันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ ปัจจุบันเราสามารถเห็นเสือโคร่งได้ตามสวนสัตว์ ในเดือนนี้มีวันสำคัญคือวันเสือโคร่งโลก ตรงกับวันที่ 29 กรกฏาคม ซึ่งจัดขึ้นเพื่อให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญและอนุรักษ์เสือโคร่งไม่ให้สูญพันธุ์ ในบทความนี้จะมาพูดถึงวันสำคัญของเสือโคร่ง ประวัติของวันสำคัญ และมารู้จักกับเสือโคร่งนักล่าแห่งผืนป่า

เสือโคร่ง

29 กรกฎาคม “วันเสือโคร่งโลก”

วันที่ 29 กรกฎาคม “วันเสือโคร่งโลก” หรือ “วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก” เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์เสือโคร่งไม่ให้สูญพันธุ์

รู้หรือไม่ว่า “เสือโคร่ง” สัตว์นักล่าแห่งผืนป่า ปัจจุบันเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ถูกล่าจนเหลือน้อยใกล้สูญพันธุ์จากธรรมชาติ ทำให้ทุกวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันเสือโคร่งโลก” หรือ “วันอนุรักษ์เสือโลก” (Global Tiger Day) เพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญ และช่วยกันอนุรักษ์ประชากรเสือโคร่งไม่ให้สูญพันธุ์

ประวัติวันเสือโคร่งโลก

สำหรับที่มาของ “วันเสือโคร่งโลก” ถูกกำหนดขึ้นจากการประชุมเสือโคร่งโลก (Tiger Summit) เมื่อปี พ.ศ. 2553 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย กลุ่มประเทศที่มีการกระจายของเสือโคร่ง จำนวน 13 ประเทศ

ได้แก่ ประเทศบังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า เนปาล รัสเซีย เวียดนาม และประเทศไทย ได้ร่วมกันกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีเป็น วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก เพื่อให้คนทั้งโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญของเสือโคร่ง

รู้จักเสือโคร่งนักล่าแห่งผืนป่า

“เสือโคร่ง” เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดเป็นวงศ์เดียวกับแมว แต่มีขนาดลำตัวใหญ่กว่ามาก น้ำหนักตัว 130-260 กิโลกรัม ในปัจจุบันเสือโคร่งมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, สถานภาพ สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์ (EN – Endangered species) คือ ระดับความเสี่ยงขั้นสูงต่อสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติในบัญชีแดงไอยูซีเอ็น (IUCN Red List) และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES)

นอกจากนี้ เสือโคร่งยังมีลายพาดกลอนที่แตกต่างไม่ซ้ำกัน ทำให้สามารถแยกแต่ละตัวออกจากกันได้ เสือโคร่งพันธุ์สุมาตราจะมีริ้วลายมากที่สุด ส่วนพันธุ์ไซบีเรีย จะมีริ้วลายน้อยที่สุด

ทั้งนี้ยังพบว่า เสือโคร่งในกรงเลี้ยงมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าตามธรรมชาติ โดยอายุเฉลี่ยในกรงเลี้ยงประมาณ 20-25 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยในธรรมชาติ 15-20 ปี เนื่องจากถูกล่าจากมนุษย์ สภาพถิ่นที่อยู่อาศัยที่โดยคุกคาม และตายด้วยโรคพยาธิและโรคติดเชื้อ ซึ่งเสือโคร่งในประเทศไทยส่วนใหญ่จะตายด้วยโรคพยาธิและโรคติดเชื้อ

เสือโคร่งเป็นหนึ่งในสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ของโลก แต่ละตัวมีอาณาเขตหรือพื้นที่ครอบครองที่กว้างขวาง โดยพื้นที่อาศัยของเพศผู้มีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย จากงานวิจัยเสือโคร่ง (Panthera tigris corbetti) ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำในพื้นที่เขตฯ ห้วยขาแข้งพบว่า เสือเพศผู้มีขนาดพื้นที่อาศัยประมาณ 267-300 ตารางกิโลเมตร ส่วนเพศเมียมีขนาดพื้นที่อาศัยประมาณ 60-70 ตารางกิโลเมตร ซึ่งแต่ละตัวจะมีอาณาเขตหากินของตัวเอง ในธรรมชาติเสือโคร่งอาศัยและออกหากินเพียงลำพัง ไม่พบพฤติกรรมการอยู่รวมฝูง นอกจากช่วงเวลาที่แม่เสืออยู่ในช่วงเลี้ยงดูลูก ส่วนใหญ่มักออกล่าเหยื่อในช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด

การสืบพันธุ์ของเสือโคร่ง เพศเมียจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 3 ปี ส่วนเพศผู้จะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 4-5 ปี สามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี ในช่วงผสมพันธุ์เสือโคร่งเพศผู้และเพศเมียจะใช้เวลาอยู่ร่วมกัน 4-5 วัน และอาจผสมพันธุ์กันทุก 15 หรือ 20 นาที หลังจากการผสมพันธุ์เพศเมียจะมีระยะเวลาตั้งท้องประมาณ100-103 วัน ส่วนใหญ่ออกลูกเฉลี่ย 2-4 ตัว ในธรรมชาติลูกเสือโคร่งจะมีโอกาสรอดชีวิตจนโตเต็มวัยประมาณ 50-70 เปอร์เซนต์

ในช่วงที่ลูกเสือโคร่งยังเล็กจะยังไม่สามารถออกไปหาอาหารร่วมกับแม่ จนกระทั่งอายุได้ 6-7 เดือนจะเริ่มออกไปหาอาหารร่วมกับแม่ ลูกเสือจะอาศัยอยู่กับแม่ไปจนกระทั่งอายุ 18-24 เดือน จึงเริ่มแยกออกจากแม่ และหาพื้นที่อาศัยเป็นของตัวเอง

ชนิดของเสือโคร่ง

ในอดีตเสือโคร่งมีการกระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในทวีปเอเชีย ตั้งแต่ไซบีเรีย เอเชียตะวันตก คาบสมุทรอินเดีย คาบสมุทรเกาหลี จีนตอนใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชวา สุมาตราและบาหลี โดยทั่วไปเสือโคร่งในทุกพื้นที่จะมีลักษณะรูปร่างและสีขนคล้ายคลึงกัน แต่หากสังเกตในรายละเอียดปลีกย่อยแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างกันบางประการ จำแนกได้จากขนาดรูปร่าง ความเข้มหรืออ่อนของสี ความยาวของขน ลักษณะลวดลาย สัดส่วนของหัวกะโหลก ฯลฯ สามารถแบ่งสายพันธุ์เสือโคร่งในถิ่นต่างๆ ออกเป็น 8 สายพันธุ์ได้ดังต่อไปนี้

  1. สายพันธุ์บาหลี (Bali tiger:Panthera tigris balica)
  2. สายพันธุ์ชวา (Javan tiger:Panthera tigris sondaica)
  3. สายพันธุ์แคสเปียน (Caspian tiger:Panthera tigris virgata)
  4. สายพันธุ์อินโด-ไชนีส (Indo-Chinese tiger:Panthera tigris corbetti)
  5. สายพันธุ์เบงกอล (Royal Bengal tiger:Panthera tigris tigris)
  6. สายพันธุ์ไซบีเรียน (Siberian tiger หรือ Amur tiger:Panthera tigris altaica)
  7. สายพันธุ์เซาท์ไชน่า (South China tiger:Panthera tigris amoyensis)
  8. สายพันธุ์สุมาตรา (Sumatran tiger:Panthera tigris sumatrae)

ในปัจจุบันเสือโคร่งสูญพันธุ์ไป 3 สายพันธุ์

  1. สายพันธุ์บาหลี (Bali tiger:Panthera tigris balicaเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดเล็กที่สุด (หนักประมาณ 80-100 กิโลกรัม) มีสีเข้มที่สุด ลักษณะลวดลายเล็กที่สุด เคยมีถิ่นอาศัยอยู่ที่บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย สำรวจพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2483และสูญพันธุ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2493
  2. สายพันธุ์ชวา (Javan tiger: Panthera tigris sondaicaเป็นเสือโคร่งขนาดเล็กที่มีสีเข้มและมีลวดลายใกล้เคียงกับสายพันธุ์บาหลี แต่แตกต่างกันตรงที่มีลักษณะรูปร่างที่ใหญ่กว่า (หนักประมาณ 110-140 กิโลกรัม) เคยมีถิ่นอาศัยอยู่บนเกาะชวา อินโดนีเซีย สำรวจพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2515 และสูญพันธุ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2519
  3. สายพันธุ์แคสเปียน (Caspian tiger:Panthera tigris virgataเป็นเสือโคร่งที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับสายพันธุ์ไซบีเรียนแต่แตกต่างกันตรงที่มีสีเข้มกว่าและเป็นเสือขนาดกลางค่อนข้างใหญ่ (หนักประมาณ 140-240 กิโลกรัม) เคยมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณเติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี และมองโกเลีย เคยสำรวจพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2491 และสูญพันธุ์ไปเมื่อปี พ.ศ. 2493

เสือโคร่ง

เสือโคร่ง 5 สายพันธุ์ที่ยังคงเหลืออยู่

  1. สายพันธุ์อินโด-ไชนีส (Indo-Chinese tiger: Panthera tigris corbettiเป็นเสือโคร่งที่มีรูปร่างลักษณะใกล้เคียงกับสายพันธุ์เบงกอลมาก แต่สีจะเข้มกว่าเป็นเสือขนาดกลาง (หนักประมาณ 130-200 กิโลกรัม) มีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าเมืองไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และทางตอนใต้ของจีน
  2. สายพันธุ์เบงกอล (Royal Bengal tiger:Panthera tigris tigrisเป็นเสือโคร่งขนาดใหญ่ (หนักประมาณ 160-260 กิโลกรัม) ลำตัวมีสีเหลืองปนเทาหรือปนน้ำตาล แต่ละตัวจะมีลายแถบปรากฏบนหลังและด้านข้างของลำตัวต่างกัน ขนใต้ท้อง คางและคอเป็นสีขาว ขนเหนือตาสีขาวและมีแถบสีดำ หางมีแถบสีดำเป็นบั้ง ๆ ตั้งแต่โคนถึงปลาย ปลายหางเป็นสีดำ ลักษณะเด่นคือ หลังหูสีดำและมีจุดขาวนวลใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน มีถิ่นอาศัยอยู่ในอินเดีย มีบางส่วนอาศัยอยู่ในเนปาล บังคลาเทศ ภูฏาน และป่าแถบตะวันตกของพม่า
  3. สายพันธุ์ไซบีเรียน (Siberian tiger หรือ Amur tiger:Panthera tigris altaicaเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด (หนักประมาณ 170-300 กิโลกรัม) แถบข้างลำตัวจะห่างและกว้างกว่าสีออกโทนน้ำตาลมากกว่าสีดำ ขนตรงบริเวณอกจะมีสีขาว มีขนยาวและหนามาก โดยเฉพาะบริเวณรอบคอ เนื่องจากเป็นเสือที่อาศัยอยู่ในเขตหนาวจึงมีสีที่จางกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นหิมะ มีถิ่นอาศัยอยู่ทางตะวันออกของรัสเซียแทบทั้งหมด มีเพียงส่วนน้อยที่พบทางตอนเหนือของจีนและทางตอนเหนือของเกาหลีเหนือ
  4. สายพันธุ์เซาท์ไชน่า (South China tiger:Panthera tigris amoyensisเป็นเสือโคร่งที่มีขนาดกลางค่อนข้างเล็ก (หนักประมาณ 120-150กิโลกรัม) ลักษณะพิเศษคือ จะมีแถบลายข้างลำตัวน้อยกว่าเสือสายพันธุ์อื่น ๆ ปัจจุบันเสือโคร่งสายพันธุ์นี้อยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์มากที่สุด เพราะไม่มีให้เห็นในป่าธรรมชาติแล้ว ส่วนใหญ่จะเหลืออยู่ที่สวนสัตว์ในจีน มีถิ่นอาศัยอยู่ในตอนกลางและตะวันออกของจีน
  5. สายพันธุ์สุมาตรา (Sumatran tiger: Panthera tigris sumatrae) เป็นสายพันธุ์เสือโคร่งที่มีขนาดเล็กที่สุด (หนักประมาณ 90-120 กิโลกรัม) มีสีเข้มมากที่สุดและมีลวดลายแถบสีดำกว้างและชิดกัน บางทีเป็นแถบริ้วลายคู่ แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน มีถิ่นอาศัยอยู่เฉพาะที่เกาะสุมาตรา อินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

บทสรุป

เสือโคร่งเป็นสัตว์ป่าที่กำลังใกล้สูญพันธ์ุ เนื่องจากมีจำนวนประชากรในธรรมชาติที่ลดลงถึง 97% ภายในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันเชื่อว่าประชากรเสือโคร่งทั่วโลกเหลือเพียง 3,200 ตัวเท่านั้น สำหรับในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 200 – 250 ตัว พบมากที่สุดในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รองลงมาคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยประเทศที่มีการกระจายของเสือโคร่งได้กำหนดเป้าหมายในการร่วมกันอนุรักษ์และเพิ่มประชากรเสือโคร่งได้ให้เป็นสองเท่าของจำนวนประชากรในปัจจุบัน หรือ เป้าหมาย ‘TX2’ ภายในปี 2565 ส่วนของประเทศไทยขอเพิ่มแค่ 50% ของประชากรเสือที่มีอยู่ หรืออีกประมาณ 100 – 125 ตัว

อย่างไรก็ตามเสือโคร่งยังเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์กินพืชไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป รวมทั้งรักษาสายพันธุ์ที่ดีของสัตว์ที่เป็นเหยื่อ เพราะสัตว์ที่อ่อนแอมักตกเป็นเหยื่อของเสือโคร่ง

 

ข่าวทั่วไปอื่นๆ ที่น่าสนใจ

 

ที่มาของบทความ

 

ติดตามอ่านข่าวทั่วไปได้ที่ solar-papillon.com

สนับสนุนโดย  ufabet369