Posts List

Health

  • วัณโรคคืออะไร เป็นแล้วมีอาการอย่างไร
    วัณโรคคืออะไร เป็นแล้วมีอาการอย่างไร

    วัณโรค คือโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

    วัณโรคถือเป็น 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยองค์กรอนามัยโลกได้เปิดเผยสถิติล่าสุดในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ว่ามีผู้ที่ป่วยทั่วโลกทั้งหมด 10.4 ล้านคน และมีถึง 1.8 ล้านคนที่เสียชีวิตจากวัณโรค
    วัณโรค

    ทั้งนี้วัณโรคเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศไทยแต่ไม่ติด 10 อันดับสาเหตุการชีวิตของคนไทย แต่ถึงอย่างนั้น องค์การอนามัยโลกก็ยังจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่ปัญหาวัณโรคสูงมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ซึ่งจำนวนของผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในกลุ่ม 22 ประเทศเหล่านี้คิดเป็นกว่า 80% ของผู้ป่วยทั่วโลก

    ขณะที่วัณโรคนั้นก็ถือเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะทำให้เชื้อวัณโรคสามารถติดและแสดงอาการได้ง่าย

    อาการวัณโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปี

    ระยะแฝง (Latent TB) ในระยะแฝง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น ทว่าเชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ

    ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ โดยอาการในระยะนี้จะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจน เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลง
    ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้ววัณโรคจะแสดงอาการที่ปอด ซึ่งเรียกว่า วัณโรคปอด แต่เชื้อก็สามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายและทำให้เกิดอาการผิดปกติที่เป็นอันตรายได้ เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

    สาเหตุของวัณโรคเกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศโดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ โดยความเสี่ยงของวัณโรคจะเพิ่มขึ้นหากเป็นผู้ที่เคยพักอาศัย หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก

    การวินิจฉัยวัณโรคเบื้องตนด้วยตนเองสามารถทำได้หากอยู่ในระยะแสดงอาการ แต่ถ้าเป็นระยะแฝงจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น จึงต้องอาศัยวิธีการวินิจฉัยโดยแพทย์ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะใช้วิธีการตรวจทางผิวหนังเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกัน และหากมีความผิดปกติ แพทย์จะสั่งตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม วิธีที่แพทย์นิยมใช้ในการตรวจวัณโรคได้แก่ การตรวจเลือด และการเอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจชิ้นเนื้อ การตรวจน้ำไขสันหลัง

    และหากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยจะมีอาการของวัณโรค แพทย์จะสั่งเก็บเสมหะของผู้ป่วยเพื่อยืนยันโรค และใช้ตัวอย่างเสมหะเพื่อทดสอบหายาที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้

    การรักษาวัณโรคทำได้ด้วยการรับประทานยาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการดูแลสุขภาพ โดยยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่ ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อีแทมบูทอล (Ethambutol) ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการดื้อยา ก็อาจจะต้องใช้ยาตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) เป็นต้น

    ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคนั้นเป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง และอาจเป็นพิษต่อตับ ดังนั้นในการรักษา แพทย์และผู้ป่วยจึงต้องร่วมมือกันสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ความอยากอาหารลดลง หายใจลำบาก มีอาการไข้ติดต่อกันหลายวันอย่างไม่มีสาเหตุ มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้าและลำคอ มีปัญหาในการมองเห็น ผิวซีดเหลือง หรือมีปัสสาวะสีเข้มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

    ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคมักเกิดขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้า หรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง โดยอาการของภาวะแทรกซ้อนอาจไม่รุนแรง หรือรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้ในผู้ป่วยวัณโรค ได้แก่ ไอเป็นเลือด ฝีในปอด ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด อาการปวดบริเวณหลัง ข้อต่อกระดูกอักเสบ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

    การป้องกันวันโรคทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังในการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่เพียงเท่านั้น การได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG) ก็สามารถช่วยป้องกันวัณโรค ซึ่งวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิด

    ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ solar-papillon.com

Economy

  • เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ไตรมาสแรกรัฐบาลเก็บภาษีเกินเป้า
    เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ไตรมาสแรกรัฐบาลเก็บภาษีเกินเป้า

    นายกฯ รับทราบการจัดเก็บภาษี ปี 2566 ไตรมาสแรก ได้เกินเป้ากว่า 60,000 ล้านบาท สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเดินหน้าถูกทาง เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
    กรมสรรพากรรายงานตัวเลขการจัดเก็บภาษี ในระยะเวลา 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึง มกราคม 2566 สามารถจัดเก็บภาษีเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 60,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะมาจากการเก็บภาษีนิติบุคคล และมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก

    ขณะที่รายงานของกระทรวงการคลังช่วง 3 เดือน ของไตรมาสแรกประจำปีงบประมาณ 2566 ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ เป็นจำนวนถึง 6.33 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 13.2% เฉพาะกรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากถึง 4.46 แสนล้านบาท เกินจากเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 10% สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศไทย ทั้งจากภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทำให้มีเงินสะพัดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

    กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ในปี 2566 ระบบเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ 3.8% จากอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว

    สำหรับในปีงบประมาณ 2566 นี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เก็บภาษี กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ได้ดำเนินการตามแผนนโยบายของรัฐบาล และติดตามสถานการณ์การจัดเก็บภาษีอย่างต่อเนื่อง

    ภายในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลตั้งเป้าการเก็บภาษีไว้ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ซึ่งจากปริมาณการเก็บภาษีในไตรมาสแรกที่เกินเป้า คาดว่าในปีนี้ทั้งปีจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ และกรมสรรพากรดำเนินการตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี ให้มีแผนการที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษี โดยการดึงธุรกิจเกิดใหม่หลายๆ ประเภท เช่น การค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์อินฟลูเอนเซอร์ เข้าสู่ระบบภาษี เพื่อให้สามารถจัดเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

    นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้รับทราบรายงานดังกล่าวแล้ว พร้อมสั่งการให้กำชับการทำงานของทุกหน่วยงานให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ชื่นชมการเติบโตของตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทย

    นายกรัฐมนตรีมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยเดินมาถูกทาง และกำลังฟื้นตัว ตลอดจนยินดีที่การจัดเก็บภาษีในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 เป็นไปได้ด้วยดี มีตัวเลขการจัดเก็บที่เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนถึงการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาล

    ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชน โดยภาษีเหล่านี้ จะถูกนำไปพัฒนาประเทศ รวมถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน และเหมาะสมตามกระบวนการกฎหมายต่อไป

    ติดตามอ่านข่าวเศรษฐกิจได้ที่ solar-papillon.com